ANSI S3.19 มาตรฐานการป้องกันอันตรายจากเสียง คืออะไร
เรารู้กันดีอยู่แล้วว่ามาตรฐานความปลอดภัยภายในสถานที่ทำงานนั้นมีมากมายหลายอย่างที่บังคับใช้อย่างเคร่งครัด แต่ก็มีบางมาตรฐานที่เรามักจะมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นมาตรฐานที่ไม่ได้สำคัญอะไร โดยเฉพาะการป้องกันความเสียหายจากการได้ยินเสียงดัง ซึ่งมาตรฐานนี้หลาย ๆ คนไม่ให้ความสำคัญกับมันมากเท่าไหร่นัก อาจจะคิดว่าเสียงดังแค่นิดเดียวไม่เป็นไร แต่หากเราฟังเสียงดังเกินที่หูจะรับไหวเป็นเวลานานก็มีโอกาสเกิดสภาวะหูดับได้
รู้จักกับ ANSI S3.19
- มาตรฐาน ANSI S3.19 คือ มาตรฐานที่กำหนดขึ้นมาเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ป้องกันเสียงดังที่ผู้สวมใส่ใช้อยู่นั้นตรงตามมาตรฐาน และสามารถป้องกันเสียงดังได้จริง โดยอุปกรณ์ป้องกันเสียงดังจะต้องผ่านการทดสอบโดยศูนย์ทดสอบจึงจะสามารถจัดจำหน่ายได้
- อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังโดยเฉลี่ยแล้วจะสามารถลดความดังของเสียงที่เข้ามาสู่หูได้ตั้งแต่ 22 เดซิเบล ไปจนถึง 33 เดซิเบล ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของอุปกรณ์ที่คุณใช้งาน เช่น ซิลิโคนอุดหู ที่ครอบหู
ทำความเข้าใจกับการป้องกันด้วยการลดเสียงรบกวน
- การเลือกอุปกรณ์ป้องกันเสียงดังเพื่อใช้งานนั้น ไม่ได้ดูเพียงแค่ว่าอุปกรณ์สามารถลดเสียงได้กี่เดซิเบล แต่จะต้องคำนึงด้วยว่า สถานการณ์ในการทำงาน หรือ สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้เลือกใช้งานอุปกรณ์ป้องกันเสียงดังได้อย่างถูกประเภท และปลอดภัยต่อการได้ยินของบุคลากร
- ในการจำแนกว่าอุปกรณ์สามารถลดจำนวนเดซิเบลได้เท่าใด จะต้องใช้สูตรเฉพาะในการคำนวณ โดยใช้อัตราการลดระดับเสียงพื้นฐาน นำมาลบด้วย 7 แล้วหารด้วย 2 และนำระดับเสียงในพื้นที่การทำงาน มาลบกับจำนวนนี้ ก็จะได้ระดับเสียงที่ส่งเข้าถึงหูของผู้สวมใส่
การป้องกันจากเสียงดังแบบฉับพลัน
- เสียงที่มีโอกาสเกิดอันตรายต่อการได้ยินของบุคลากรนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงดังมาก ๆ ในระยะเวลานาน แต่เสียงที่ดังขึ้นแบบฉับพลันและรวดเร็ว ก็สามารถสร้างอันตรายได้เช่นกัน เช่น เสียงกดของเครื่องจักรที่มีความดัง และเกิดขึ้นกะทันหัน จะสร้างความเสียหายรุนแรงต่อผู้ได้ยินในทันที ดังนั้นอย่าลืมที่จะสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังอยู่ตลอดเวลาที่ทำงานกับเครื่องมือที่สามารถสร้างเสียงดังระดับอันตราย
- และเสียงที่ดังอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะไม่ได้ดังมาก ก็สามารถสร้างความเสียหายต่อการได้ยินเช่นเดียวกัน พนักงานหลายคนที่ไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง และเคยชินกับเสียงดังอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็มีโอกาสเกิดภาวะ หูอื้อ หูดับ หรือสูญเสียการได้ยินชั่วคราว โดยไม่รู้ตัว
สิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง
- เลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับงาน เช่น งานที่ต้องเคลื่อนไหวตัวเร็ว ๆ อาจจะใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบา เพื่อลดความเหนื่อยล้าของช่วงคอและหัว หรือ งานที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรที่มีเสียงดังอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่แน่นจนเกินไป แต่สามารถลดระดับความดังได้
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าระดับเดซิเบลที่อุปกรณ์ป้องกันช่วยลดนั้นเพียงพอต่อระดับเดซิเบลของสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพราะหากคำนวณพลาด ก็จะมีโอกาสสูงที่จะเกิดอันตราย
- จะต้องเลือกอุปกรณ์ที่สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด หรือทำให้ร้อนมากจนเกินไป
- จะต้องเลือกอุปกรณ์ที่แม้ว่าจะใส่แล้วแต่ก็ยังสามารถได้ยินสิ่งที่จำเป็น เช่น เสียงสัญญาณเตือนฉุกเฉิน
คลื่นเสียงเป็นอันตรายที่หลาย ๆ คนอาจจะมองข้าม ซึ่งในสถานที่ทำงานหลาย ๆ ที่ไม่ได้มีวิธีการควบคุมเสียงดังที่เป็นอันตราย ดังนั้นการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังจึงสำคัญมาก เพื่อให้แน่ใจว่าการป้องกันด้วยอุปกรณ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพและป้องกันได้จริง อุปกรณ์ที่สวมใส่จึงต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ANSI S3.19 ที่เราได้แนะนำไปในข้างต้น นั่นเอง